อาชีพชาวนาเป็น อาชีพที่มีความเสี่ยงสูงจากภัยธรรมชาติ เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม ฯลฯ อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาความเสี่ยงทางด้านภัยธรรมชาติแล้วยังมีปัญหาอื่น ๆ ที่ทำให้ชาวนาไทยไม่สามารถยกระดับความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ ได้แก่ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ การใช้ต้นทุนการผลิตสูง การขายข้าวที่ได้กำไรต่ำกว่าต้นทุน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้การผลิตข้าวขาดทุน เช่น ปัญหาของดินที่มีลักษณะไม่ตรงกับพันธุ์ข้าวที่นำมาปลูก เช่น ดินเปรี้ยวหรือเค็มจนเกินไป การขาดแคลนน้ำในการทำนา ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาทางโรคและศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์พืชได้ไม่ตรงตามมาตรฐาน เป็นต้น จากประเด็นข้างต้นนี้ ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกษตรกรผลิตข้าวจำหน่ายแล้วขาดทุน คือการใช้ต้นทุนที่สูง และเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีคุณภาพ และขายได้ราคาต่ำ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้สามารถควบคุมได้หากเกษตรกรมีองค์ความรู้ในการจัดการแปลงนาอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ หรือมีความรู้วิธีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ให้ได้คุณภาพ ก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าวของเกษตรกรได้ อีกทางหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าของข้าว คือการยกระดับการผลิตข้าวให้เป็นระบบแบบปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสามารถตรวจสอบได้ เช่น ระบบการผลิตข้าวแบบปลอดภัย ระบบการผลิตข้าวแบบไร้สารเคมี และระบบการผลิตข้าวแบบอินทรีย์ ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าราคาของข้าวให้สูงกว่าการผลิตข้าวแบบใช้สารเคมีทั่วไปได้หากมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับทราบถึงข้อดีของการผลิตข้าวในระบบต่างๆ นอกจากองค์ความรู้ในการปลูกข้าวจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้ผลผลิตที่ดีของของเกษตรกร รายได้ของเกษตรกรยังเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วย ทั้งนี้ช่องทางในการขายข้าว ยังไม่มีองค์ความรู้ในการใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และเกษตรกรยังขาดองค์ความรู้ด้านการตลาดและการเข้าใจตลาดของการขายข้าว เพื่อเป็นการยกระดับองค์ความรู้ของเกษตรกรทั้งด้านการผลิตและการตลาดโครงการการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวปลอดภัยเพื่อส่งเสริมรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร โดยความร่วมมือของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และห้างหุ้นส่วนจำกัดโอกาส ฟาร์ม จึงได้ถูกจัดทำขึ้น เพื่อตอบวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวแบบปลอดภัยไปยังเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อยในพื้นที่เป้าหมาย
2. เพื่อสร้างเกษตรกรแกนนำถ่ายทอดเทคโนโลยีและเกิดพื้นที่ต้นแบบการผลิตข้าวแบบปลอดภัย
3. เพื่อเป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อย
4. เพื่อสร้างนวัตกรรมการตลาดและโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรายย่อยและผู้บริโภคสามารถติดต่อซื้อขายกันได้โดยตรง
5. เพื่อพัฒนาระบบสื่อออนไลน์สำหรับการกระจายข่าวสารของโครงการสู่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง และเป็นพื้นที่รวบรวมองค์ความรู้ของการผลิตข้าวปลอดภัยให้แก่ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้